SOURCE OF MINDFUL CRAFT

หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม 

 

บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชื่อที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก เพราะเป็นหมู่บ้านบนเขาทางขึ้นคดเคี้ยว ใครจะรู้ว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงกว่า 1,000 ครัวเรือน อยู่ร่วมกัน อย่างเรียบง่าย สงบสุข เปี่ยมด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ความงดงามของที่นี่มาจากสติ ความสงบในจิตใจ และความเพียรพยายามไม่ย่อท้อ ของคนในหมู่บ้านสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นในวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน และในชิ้นงานทุกๆ ชิ้น เม็ดเงินทุกๆ เม็ด ที่พวกเขาสร้างสรรค์

สัมผัสชุมชนพระบาทห้วยต้ม

เสียงค้อนตอกแผ่นเงินเป็นจังหวะ เสียงตะไบ เสียงหินขัดเงิน ดังมาจากบ้านนู้นบ้านนี้ริมสองข้างทาง และเสียงกี่ทอผ้าจากศูนย์หัตถกรรมกลางหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่ใครๆ ในหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนที่ตั้งอยู่ค่อนมาทางจังหวัดตากคุ้นเคยเป็นอย่างดี คู่กับเสียงกระดิ่งจากเจดีย์ศรีเวียงชัย และเสียงสวดมนต์ยามเย็น

รอยยิ้มจริงใจของคนในหมู่บ้าน คุณยายในชุดกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ คู่สร้อยคอกำไลลูกปัดสีสดตัดกับลูกปัดเงินยังคงเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย ในขณะที่เด็กแรกรุ่นต่างใส่ชุดกะเหรี่ยงหลากสีสันกันอย่างภาคภูมิ

ภาพฝาผนังที่วัดพระบาทห้วยต้มบอกเล่าเรื่องราวความศรัทธา และ ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนได้อย่างน่าประทับใจ ณ ที่แห่งนี้ มีร่างของพระครูบาชัยวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ตั้งอยู่ให้สักการะ พระครูผู้เป็นศูนย์รวมแรงศรัทธาของคนในหมู่บ้าน ผู้ทำให้ชาวกะเหรี่ยงหันมายึดมั่นในการรักษาศีล ทานมังสาวิรัติ ภาวนา ทำบุญตักบาตรผัก และ ทำทาน เป็นนิจ

ความศรัทธาน้อมนำให้คนในชุมชนมีสติ ใจเย็น เพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ หรือ เครื่องเงิน ได้อย่างงดงามจากเครื่องมือธรรมดาๆ ไม่กี่ชิ้น เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแม้ว่าจะมีข้อจำกัด หรือ อุปสรรคเพียงไร การมีสติ และความเพียร จะช่วยนำทางให้ถึงจุดหมาย

เป็นเสน่ห์ที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงแห่งชุมชนพระบาทห้วยต้ม

ความงามที่มากกว่าสิ่งที่มองเห็นด้วยตา

หากสนใจไปที่ชุมชนแห่งนี้ แนะนำให้ไปช่วงหน้าหนาว สามารถขับรถจากกรุงเทพ แล้วพักค้างคืนที่ตากก่อนขับขึ้นเขาช่วงเช้ามายังหมู่บ้าน ก็จะเป็นการเดินทางแบบสบายๆ หรือจะขับลงจากเชียงใหม่ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว ทางบางช่วงเป็นถนน 2 เลนสวนกันขึ้นเขาคดเคี้ยวควรขับด้วยความระมัดระวัง

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านมังสาวิรัติ และ เคร่งครัดในศีล 5 ห้ามนำเนื้อสัตว์ และ สุรา เข้าหมู่บ้าน

ทุกวันพระจะมีตลาดเช้าขายผักหน้าวัด สามารถซื้อผักไปใส่บาตรได้ โดยนำไปใส่ในกะละมัง (ใส่ร่วมกันกับของผู้อื่น) ที่วางเรียงรายเป็นแถวอยู่ในวัดพระบาทห้วยต้ม มีร้านก๋วยเตี๋ยวเส้นเหนียว และ ขนมจีนน้ำยาเจให้เลือกชิมกันหลายร้าน

ทุกๆ วัน ชาวบ้านทำวัตรเย็นที่อาคาร หรือ ลานตรงเจดีย์ศรีเวียงชัยทุกเย็น สามารถไปเข้าร่วมได้ มีวันละ 2 รอบ เวลา 4 โมง และ 6 โมงเย็น มีการภาวนาโดยใช้ลูกประคำ หรือ จะนั่งสมาธิเฉยๆ ก็ได้

beauty of mindfulness

ความงดงามแห่งสติ สมาธิ และความเพียร

ค้อน หินขัด ฐานรองตอกจากตอไม้ เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการทำเครื่องเงินกะเหรี่ยงหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม การทำงานที่แทบไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเป็นเครื่องทุ่นแรงเลย แต่การถือศีลน้อมนำใจให้คนในชุมชนมีสมาธิ จดจ่อ มีอุตสาหะ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานได้อย่างงดงาม

การทำเครื่องเงินเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียด และทำขั้นตอนเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานาน เม็ดเงินแต่ละเม็ด รอยสับ รอยทุบแต่ละรอย มาจากสติ และการมีสมาธิจดจ่อในการทำชิ้นงานทั้งสิ้น กว่าจะเป็นชิ้นงานถึงมือผู้สวมใส่ได้ ไม่ง่ายเลย ลูกปัดเงินที่ร้อยเป็นเส้นแต่ละเส้น มาจากการร่วมแรงกันของทั้งครอบครัวโดยใน 1 วัน ครอบครัว 3 คน อาจสามารถทำเส้นลูกปัดเงิน เม็ดเงินขนาด 1 มม. ยาว 45 ซม. ได้เพียง 5 เส้น เท่านั้น

เราอยากให้เครื่องประดับของเรา เป็นกำลังใจ และช่วยให้ผู้สวมใส่ค้นพบตนเอง มีสติ สมาธิในทุกๆช่วงเวลาของแต่ละวัน เพียงแค่นึกย้อนไปถึงช่วงเวลานั้น ที่ช่างเงินแห่งพระบาทห้วยต้ม ใช้สมาธิ และ ความเพียร ส่งต่อพลังดีๆ แห่งการสร้างสรรค์ ลงมาในชิ้นงาน 

เป็นความงามที่มากกว่าสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา

Handmade Jewelry

KAREN SILVER วิถีเงินกะเหรี่ยงพระบาทห้วยต้ม

เครื่องเงินของเราเป็นงานเงินทำมือ จากเนื้อเงินบริสุทธิ์ 95-99% 

เราออกแบบ และ ทำชิ้นงานร่วมกันกับช่างฝีมือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงพระบาทห้วยต้มที่มีวิถีการทำเครื่องเงินโดยใช้สติ  และ ความเพียร

ชาวเขามีความผูกพันกับเครื่องเงินมาช้านาน ตั้งแต่อดีตเครื่องเงินถูกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนของใช้จำเป็น และ อาหารเวลาเดินทาง เป็นเครื่องราง เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานะในเผ่าและเป็นมรดกตกทอดของแต่ละครอบครัว

บันทึกในประวัติศาสตร์กล่าวว่า ชาวเขาเดินทางย้ายถิ่นฐานจากทิเบตมายังประเทศไทย และ พม่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยอาศัยอยู่ในภาคใต้ และ ตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า และในภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลัก

ด้วยปริมาณเนื้อเงินที่สูงกว่าเงินสเตอร์ลิง (เงิน 925) เงินกะเหรี่ยงจึงมีสีนวลผ่องเป็นเอกลักษณ์ มีความอ่อนดัดโค้งง่ายเหมาะสำหรับงานทำมือ

MIndful approach

วิถีแห่งสติ สู่ความยั่งยืน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีทฤษฎีกรอบความยั่งยืนที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง 

—ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) —

ที่คิดค้น พัฒนา และลงมือทำเป็นแบบอย่างโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 

เราเป็นหนึ่งในเด็กน้อยตัวเล็กๆ ที่เติบโตมาได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ และไม่แบ่งแยก เพื่อให้ทุกๆ คน มีชีวิตที่ดีขึ้น และ ยืนได้อย่างมั่นคงด้วยตนเอง 

วานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ ท่านยังอยู่กับเรา ผ่านปรัชญาที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เสียงเพลงสรรเสริญพระบารมียังคงศักดิ์สิทธิ์มิเสื่อมคลาย

องค์การสหประชาชาติยกย่อง Sufficiency Economy Philosophy ว่าเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ปรัชญานี้จะคงเป็นแค่เพียงตัวหนังสือ คำพูด หรือแผนภาพบนแผ่นกระดาษ หากไม่มีการนำไปปฏิบัติหรือลงมือทำ 

การไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงมาจากตัวของเราเองทุกคน ที่ไม่เพียงแค่เรียนรู้ ทำความเข้าใจ แต่นำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจของตนเอง 

Stories of Silver เราเชื่อมั่นในปรัชญานี้ และใช้เป็นหลักในการตัดสินใจ ในการทำการใดๆ

เราอยากชวนให้คุณร่วมเดินทาง เริ่มทำไปด้วยกัน ค่อยๆ ก้าวเดินทีละก้าวสู่ความยั่งยืน 

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) ปรัญชาแห่งสติ สู่ความยั่งยืน

สติเป็นจุดเริ่ม…

สติกำกับทำให้รู้ตน สติย้ำเตือนให้คิดพิจารณาตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล สติทำให้เห็นสิ่งที่ขาดพร่อง และ แนวทางเติมเต็ม สตินำพาให้เดินทางที่เหมาะสมแห่งตน จึงยั่งยืน 

ปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

การรู้จักตน ประมาณตน เป็นห่วงแรก คือ รู้ว่าเราถนัดอะไร ทำอะไรได้ดี เรารู้สึกมีพลัง มีความสุขจากอะไร สิ่งนั้นเราทำได้แค่ไหน ทำได้ดีกว่าคนอื่นอย่างไร แล้วสิ่งนั้นส่งผลกระทบในทางบวกต่อคนอื่น ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อธรรมชาติ ต่อโลก หรือไม่อย่างไร

การมีเหตุมีผล เป็นห่วงที่สอง คือ ระลึกรู้ว่าทำเหตุแบบนี้ จะเกิดผลแบบนี้ ตามหลักกรรม เวลาจะทำอะไรเวลาตัดสินใจต้องพิจารณาโดยรอบด้านอย่างมีหลักการ คำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นเหตุและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ ต่อตนเอง ต่อผู้ที่ทำงานกับเรา ต่อลูกค้า คู่ค้า ต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนที่สำคัญของเราทั้งสิ้น

การมีภูมิคุ้มกัน เป็นห่วงที่สาม คือ การเตรียมตัวเพื่อให้มีความพร้อมรับในทุกๆสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ วางแผนสำหรับ worst case scenario หากเรารู้ว่าเราไม่พร้อมด้านไหน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ภาษา เทคโนโลยี การบริหารการเงิน ให้หาทางปิดช่องว่างนั้นๆ เผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ถนัดและเรียนรู้ให้เข้าใจ ให้แน่ใจว่าหากประตูหนึ่งปิดก็มีประตูอื่นที่เราจะสามารถเปิดเข้าไปได้

2 เงื่อนไขสำคัญ คือ ความรู้ คู่ คุณธรรม ทำอะไรต้องมีความรู้ ความเข้าใจลงลึก ทำอะไรโดยมีความอุตสาหะ เพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ และคิดถึงผู้อื่น ซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบใคร ไม่มองอะไรด้านเดียว เหรียญมีสองด้านเสมอ profit ต้องสมดุล กับ people และ planet

ทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องเดินทางสายกลางที่เหมาะกับตนเอง เพราะความเหมาะสมพอดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้ทำในสิ่งที่เป็นความพอดีของเรา

โดยสรุปก็คือ การกระทำการใดอย่างมีสติ รู้ตน เดินทางสายกลาง อุตสาหะพยายามในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เพียงเพื่อตัวเรา ของเรา แต่ยังประโยชน์ในวงกว้าง

ไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ไปร่วมกันไปได้ไกล ไปด้วยกันจึงยั่งยืน

“เราอยากให้เครื่องประดับของเรา เป็นกำลังใจ และ ช่วยให้คุณค้นพบตนเอง มีสติ สมาธิในทุกๆช่วงเวลาของแต่ละวัน เพียงแค่นึกย้อนไปถึงช่วงเวลานั้น ที่ครูช่างใช้สมาธิ และ ความเพียร ส่งต่อพลังดีๆ แห่งการสร้างสรรค์ลงมาในชิ้นงาน พร้อมกันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งแรงในการเก็บรักษาวิถีชีวิตเรียบง่ายของหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม ให้ชุมชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นกะเหรี่ยง และส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับความศรัทธา ความมีสติ ความมีสมาธิ และ ความเพียรอันงดงามนี้สืบไป”

เราชวนคุณร่วมเดินทางไปด้วยกัน ร่วมกันเรียนรู้ พัฒนา เติบโตขึ้นทุกๆวัน ทำในสิ่งที่เชื่อมั่น เป็นพลังเล็กๆ อีกพลังหนึ่ง ในการสร้างสรรค์และส่งต่อสิ่งดีๆ 

people behind mindful jewelry

รอยยิ้มเบื้องหลังชิ้นงาน

คุณเอกชัย

ช่างเงินมือเอก

หลังจากที่เคยทำงานเป็นพ่อครัวในกรุงเทพตอนหนุ่มๆ คุณเอกชัยตัดสินใจมาอยู่พระบาทห้วยต้มด้วยศรัทธาต่อพระครูบาวงศ์ ตอนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำงานเงินที่มีความสุขกับการทำงานและอยู่กับครอบครัว 

ลุงแฉะ กับ ป้าทิลู

ช่างประกอบ และ ช่างร้อย

คู่สามี ภรรยา ที่นอกจากจะเป็นทั้งช่างเงิน ช่างร้อยลูกปัด และชาวสวน ตอนนี้ก็เป็นคุณตาคุณยายดูแลหลานๆ ที่น่ารักด้วย

น้องนิด กับ น้อง เต 

ช่างเงินฝึกหัดที่เก่งขึ้นทุกๆวัน

สองสาวน้อย มือใหม่ฝึกหัด อยากจะทำเครื่องเงินเป็นอาชีพ สร้างรายได้ อย่างภาคภูมิใจ ไม่ต้องจากบ้านเกิดไปหางานทำที่อื่น

บ้านคุณหล้า คุณแดง

ครอบครัวช่างทำลูกปัดเงิน

ครอบครัวเดียวในพระบาทห้วยต้มที่ยังคงทำลูกปัดเงินเม็ดข้าวขนาด 1 มิลลิเมตร คุณพ่อ คุณแม่ และ คุณยาย ช่วยกันทำเส้นลูกปัดเงินเม็ดข้าว ได้ 5-6 เส้นต่อวัน  

ฐิตาภา ตันสกุล

หลังจากค้นพบตนเองว่าที่สำหรับตัวเอง คือ การทำงานออกแบบและทำงานร่วมกับช่างที่หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม เพื่อส่งต่อความงามของสติ และ สมาธิ เธอจึงมุ่งมั่นให้ผู้อื่นมีความสุข กับการอยู่กับปัจจุบัน ผ่านงานของเธอ 

ลูเซีย แปราโก

ผู้มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อเก็บรักษา วิถีการทำงานหัตถกรรม และมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบ โดยเคารพต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงร่วมกันเป็นแรงสำคัญของ Stories of Silver 

“จุดเริ่มของเรา มาจากการทำในสิ่งที่รักและเชื่อมั่น แล้วใช้สติและความเพียรนำทางในทุกก้าวเดิน”